ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงยุคคณะราษฎรเป็นระยะเวลากว่าหลายทศวรรษที่สยามประสบกับการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และความคิด ส่งผลให้ผู้นำรัฐสยามต้องการแสดงอำนาจและความเป็นรัฐสมัยใหม่ หรือความ “ศิวิไลซ์” โดยเลือกแสดงผ่านการจัดงานมหกรรมสาธารณะ ซึ่งที่กล่าวถึงในหนังสือเล่มนี้ได้แก่งานสมโภชพระนครครบรอบร้อยปี งานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ และงานฉลองรัฐธรรมนูญ
แต่กระนั้นก็ตาม ทั้งงานสมโภชพระนครครบรอบร้อยปี และงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ แม้จะเรียกว่าเป็นงานมหกรรมระดับชาติ แต่ผู้ที่ได้รับเชิญให้มีส่วนร่วมในงานไม่ได้รวมถึงราษฎร ซึ่งพวกเขาทำได้แค่เพียงเป็นตัวประกอบภายในงาน และกลายเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงงานมหกรรมในฐานะ “ผู้ถูกดู” มิใช่ "ผู้ดู"
ความเป็นสาธารณะแบบที่รวมเอาราษฎรเข้ามาอยู่ด้วยนั้น เกิดขึ้นหลังพ.ศ. 2475 ในการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญ ในที่สุดแล้ว หนังสือเล่มนี้ได้ฉายภาพให้เห็นงานมหกรรมของสยามที่ควรเป็นงานเฉลิมฉลองครั้งใหญ่แต่ละช่วงเวลา ได้กลับกลายเป็นการช่วงชิงพื้นที่ทางการเมืองของรัฐในแต่ละยุคสมัยด้วยเช่นเดียวกัน
